เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
คำว่า กิเลสเครื่องร้อยรัด ในคำว่า มุนีสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว
ได้แก่ กิเลสเครื่องร้อยรัด 4 อย่าง คือ
1. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา
2. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือพยาบาท
3. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือสีลัพพตปรามาส
4. กิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือความถือมั่นว่านี้เท่านั้นจริง
ความกำหนัดในทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออภิชฌา
ความอาฆาต ความไม่พอใจในวาทะของผู้อื่น ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ
พยาบาท
ความยึดมั่นศีล วัตร หรือศีลวัตรของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคือ
สีลัพพตปรามาส
ทิฏฐิของตน ชื่อว่ากิเลสเครื่องร้อยรัดกายคืออิทังสัจจาภินิเวส
คำว่า สลัด ได้แก่ สละ หรือสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด อีกนัยหนึ่ง มุนีแก้ หรือ
สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด คือ กิเลสเครื่องผูกพัน ที่ร้อยรัด รัดรึง ข้อง ติด เกี่ยว เกี่ยวพัน
เกาะติด ติดแน่นแล้ว อธิบายว่า มุนีสละ หรือ สลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด เหมือนคน
ทำการปลด ปล่อยวอ รถ เกวียน หรือรถมีเครื่องประดับ คือ ให้เคลื่อนที่ไปได้ ฉะนั้น
อีกนัยหนึ่ง มุนีแก้ หรือสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัด คือ กิเลสเครื่องผูกพัน
ที่ร้อยรัด รัดรึง ข้อง ติด เกี่ยว เกี่ยวพัน เกาะติด ติดแน่นแล้ว
คำว่า มุนี อธิบายว่า ญาณ ท่านเรียกว่า โมนะ คือ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด...
ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องและตัณหาดุจตาข่ายได้แล้ว ชื่อว่ามุนี1
คำว่า ในโลกนี้ ได้แก่ ในทิฏฐินี้... มนุษยโลกนี้ รวมความว่า มุนีสลัดกิเลส
เครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว
คำว่า เมื่อคนเกิดวิวาทกันแล้ว ก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย อธิบายว่า
เมื่อคนเกิดวิวาทกันแล้ว คือ เกิดขึ้นแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดขึ้นแล้ว ปรากฏแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 14/68-71

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :392 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 13. มหาวิยูหสุตตนิทเทส
ได้แก่ เมื่อคนทั้งหลาย ถึงฉันทาคติ ถึงโทสาคติ ถึงโมหาคติ ถึงภยาคติ มุนีนั้น
ย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ คือ ไม่ดำเนินไป
ตามอำนาจราคะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจโทสะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจโมหะ
ไม่ดำเนินไปตามอำนาจมานะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจทิฏฐิ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจ
อุทธัจจะ ไม่ดำเนินไปตามอำนาจวิจิกิจฉา ไม่ดำเนินไปตามอำนาจอนุสัย ได้แก่
ไม่ไป คือ ไม่ออกไป ไม่ถูกพาไป ไม่ถูกนำไป ด้วยธรรมที่ก่อความเป็นฝักเป็นฝ่าย
รวมความว่า เมื่อคนเกิดวิวาทกันแล้วก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย
คำว่า เป็นผู้สงบ ในคำว่า เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้น เป็นผู้สงบ
วางเฉย อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบราคะ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะ
สงบโทสะ ชื่อว่าเป็นผู้สงบ เพราะสงบโมหะ... ชื่อว่าเป็นผู้สงบ คือ เข้าไปสงบ
สงบเย็น ดับ ระงับได้แล้ว เพราะสงบ ระงับ สงบเย็น เผา ดับ ปราศจาก สงบระงับ
อกุสลาภิสังขารทุกประเภทได้แล้ว รวมความว่า เป็นผู้สงบ
คำว่า เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ อธิบายว่า เมื่อคนทั้งหลาย ไม่สงบ คือ ไม่
เข้าไปสงบ ไม่สงบเย็น ไม่ดับ ไม่ระงับ รวมความว่า เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้น
เป็นผู้สงบ
คำว่า มุนีนั้น... วางเฉย อธิบายว่า มุนีผู้เป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยอุเบกขา
มีองค์1 6 เห็นรูปทางตาแล้ว ก็ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่
ฟังเสียงทางหู... เป็นผู้อบรมแล้ว เป็นผู้สงบ รอคอยอยู่แต่เวลาเท่านั้น รวมความว่า
เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้น เป็นผู้สงบ... วางเฉย

เชิงอรรถ :
1 อุเบกขามีองค์ 6 คือภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ในพระธรรมวินัยนี้
(1) เห็นรูปทางตาแล้ว (2) ฟังเสียงทางหูแล้ว (3) ดมกลิ่นทางจมูกแล้ว (4) ลิ้มรสทางลิ้นแล้ว
(5) ถูกต้องสัมผัสทางกายแล้ว (6) รับรู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ก็ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เป็นผู้วางเฉย มี
สติสัมปชัญญะอยู่
อุเบกขาองค์มี 10 คือ
(1) ฉฬงฺคุเปกฺขา อุเบกขาประกอบด้วยองค์ 6 (2) พฺรหฺมวิหารุเปกฺขา อุเบกขาในพรหมวิหาร (3)
โพชฺฌงฺคุเปกฺขา อุเบกขาในโพชฌงค์ (4) วิริยุเปกฺขา อุเบกขาคือวิริยะ (5) สงฺขารุเปกฺขา อุเบกขา
ในสังขาร (6) เวทนูเปกฺขา อุเบกขาในเวทนา (7) วิปสฺสนูเปกฺขา อุเบกขาในวิปัสสนา
(8) ตตฺรมชฺฌตฺตุเปกฺขา อุเบกขาในเจตสิก หรือ อุเบกขาที่ยังธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันให้เป็นไปเสมอกัน
(9) ฌานุเปกฺขา อุเบกขาในฌาน (10) ปาริสุทฺธุเปกฺขา อุเบกขาบริสุทธิ์จากข้าศึก (วิสุทฺธิ. 1/84-89/
173-179)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :393 }